รู้จักและเข้าใจ “ผู้พิการ” มากขึ้น ผ่านเวิร์กชอปวิชาชีวิต จาก SEAC
08 มี.ค. 2023

บางครั้งความพิการก็เป็นเรื่องใกล้ตัวกว่าที่เราคิด จะดีแค่ไหน หากเราเข้าใจผู้พิการผ่านเลนส์ที่ถูกต้อง เพื่อให้สามารถอยู่ร่วมกับผู้พิการได้อย่างเข้าใจและมีความสุข เพราะแม้ “ความเท่าเทียม” จะเป็นหนึ่งในประเด็นร้อน ที่ทั่วโลกหันมาให้ความสำคัญ แต่หลายครั้งที่ “ผู้พิการ” ยังมักถูกมองว่าเป็นผู้ด้อยโอกาสในสังคม ที่ต้องการความช่วยเหลือจากคนรอบข้าง และนำไปสู่การเลือกปฎิบัติ
"ซีแอค" (SEAC) ผู้นำด้านการพัฒนาบุคลากรและองค์กรในประเทศไทย เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต ได้ร่วมกับมูลนิธินวัตกรรมทางสังคม สานต่อกิจกรรมคุณภาพ ภายใต้ชื่อ “IW - Inclusive Workplace เตรียมพร้อมเพื่อก้าวสู่โลกการทำงาน” ขึ้นเป็นปีที่ 3 เพื่อพัฒนาทักษะชีวิตและวิธีคิดที่จำเป็นให้กับบัณฑิตและเยาวชนผู้พิการทั่วประเทศ ในกว่า 21 มหาวิทยาลัย จำนวนรวมกว่า 150 คนที่ได้เข้าร่วมกิจกรรมนี้ อาทิเช่น หลักสูตรเสริมสร้างวิธีคิดแบบ Growth Mindset ที่่ช่วยให้เกิดความเชื่อมั่นในศักยภาพตัวเอง และกล้าลองทำอะไรใหม่ๆ ไม่กลัวผิด ไม่กลัวพลาด หลักสูตร DISC ที่เสริมทักษะการทำงานร่วมกับผู้อื่น และทักษะการเล่าเรื่อง (Storytelling) เพื่อให้เกิดความมั่นใจในการพรีเซนต์ความสามารถเฉพาะและความพิการของตนเองให้น่าสนใจได้ เป็นต้น ผ่านรูปแบบการเรียนรู้ทั้งแบบสอนสดผ่านซูม (Virtual Classroom) และสอนสดแบบเจอหน้ากัน (Face-to-Face Classroom) ที่ศูนย์การเรียนรู้ SEAC Center โดยเทรนเนอร์ของซีแอคที่ใส่ใจ และตั้งใจออกแบบกระบวนการสอนและเครื่องมือการเรียนรู้เฉพาะสำหรับผู้เรียนผู้พิการ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด และเกิดผลลัพธ์ที่ยั่งยืนมากที่สุด
เพื่อยกระดับศักยภาพให้กับคนไทยทุกคนผ่านการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง และต้องการทลายข้อจำกัดของการเรียนรู้ในทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นทางด้านความพิการ อายุ ฐานะ และเพศ "ซีแอค" (SEAC) ได้จับมือกับมูลนิธินวัตกรรมทางสังคม จัดเวิร์กช็อปพิเศษ 'Disability Dialogue" เพื่อให้พนักงานของซีแอคที่มีใจจิตอาสา เกิดความรู้ความเข้าใจ และส่งเสริมให้เกิดการออกแบบประสบการณ์เรียนรู้ และหลักสูตรที่ตอบโจทย์ความท้าทาย และความต้องการของผู้เรียนผู้พิการได้อย่างตรงจุด
แล้ว กิจกรรมเวิร์กชอป 'Disability Dialogue’ ในครั้งนี้ น่าสนใจอย่างไร?
** คนธรรมดาอย่างเราๆ จะสามารถเรียนรู้และนำไปปรับใช้ได้อย่างไร?**

อีกหัวใจสำคัญ คือ ต้องเข้าใจความพิการในแต่ละรูปแบบ เช่น จะบอกทางให้ผู้พิการทางสายตา ให้บอกตามเข็มนาฬิกา เช่น ไข่พะโล้อยู่ที่ 12 นาฬิกา น้ำอยู่ที่ 3 นาฬิกา หรือ ถ้าบอกทิศทาง เช่น จะไปห้องน้ำ ให้เดินตรงไป จะเจอห้องน้ำอยู่ตรง 9 นาฬิกา เป็นต้น หรือ กรณีกลุ่มออทิสติก ซึ่งจะพูดคุยโดยไม่สบสายตา ชอบอะไรที่เคลื่อนไหวได้ ดังนั้น เวลาจะสอนหรือสื่อสารกับคนกลุ่มนี้ อาจจะต้องอาศัยตัวช่วยเพื่อดึงความสนใจให้เขาหันหน้ามาหาเรามาก่อน แล้วค่อยสอน ที่สำคัญ คนกลุ่มนี้จะมีเพียงไม่กี่คนที่ทำให้รู้สึกปลอดภัย ดังนั้น เราอาจจะสอนหรือสื่อสารผ่านผู้ดูแลที่เขาไว้ใจ เป็นต้น

ด้านดร.สิรยา คงสมพงษ์ ที่ปรึกษาอาวุโส SEAC ผู้อยู่เบื้องหลังกิจกรรมการสอนและพัฒนาทักษะวิชาชีวิต เพื่อให้บัณฑิตและเยาวชนผู้พิการทำงานได้ ภายใต้โครงการส่งเสริมการจ้างงานกระแสหลักให้บัณฑิตพิการทำงานในองค์กร (IW - Inclusive Workplace) ซึ่งทางซีแอคได้ร่วมกับมูลนิธินวัตกรรมทางสังคมสานต่อกิจกรรมคุณภาพนี้เป็นปีที่ 3 เผยถึงเทคนิคที่ได้เรียนรู้ว่า จริงๆ แล้ว คนพิการแต่ละประเภทสามารถเรียนรวมในคลาสเดียวกันได้ ทั้งออนไซต์และออนไลน์ เพียงแต่ผู้สอนต้องเข้าใจธรรมชาติและความสามารถในการเรียนรู้ของผู้พิการแต่ละประเภท และปรับวิธีการสอนที่เข้าถึงผู้เรียนผู้พิการแต่ละประเภทได้อย่างแท้จริง
เทคนิคที่ซีแอคได้เรียนรู้และพัฒนาจากการออกแบบหลักสูตร และปรับกระบวนการเรียนการสอนให้เหมาะกับบัณฑิตและเยาวชนผู้พิการหลากหลายประเภท ที่มาเรียนในคลาสเดียวกัน ซึ่งสามารถสรุปได้ดังนี้
เริ่มต้นจากสร้าง Growth mindset เพื่อให้ผู้พิการเข้าใจว่าเขายังสามารถทำอะไรได้ หรืออะไรที่เป็นข้อจำกัดที่คิดไปเอง หลังจากนั้นค่อยๆ เติมทักษะที่เขาสามารถนำไปปรับใช้
ในคลาสเรียน ถ้าจะต้องมีการเปิดคลิปวิดีโอ อาจจะต้องคิดเผื่อสำหรับผู้พิการทางสายตา จะทำอย่างไรให้เขาแค่ได้ยินเสียงแต่ยังเข้าใจ เพราะฉะนั้น ไม่ควรเลือกใช้คลิป VDO ที่เป็นภาษาอังกฤษและมีซับภาษาไทย แต่ควรใช้คลิปที่สื่อสารด้วยภาษาไทย ที่สำคัญต้องไม่ใช้คลิปที่มีแต่ภาพ ไม่มีบทสนทนา แต่ควรเป็นคลิปที่มีเนื้อหาตรงไปตรงมา มีบทสนทนาที่ช่วยเล่าเรื่อง หรือ วิทยากรอาจจะพรีวิวก่อนเปิดคลิป ว่าเนื้อเรื่องจะประมาณไหน เพื่อปูพื้นฐานให้ผู้ร่วมอบรมก่อน
การจับกลุ่มทำกิจกรรม โดยเฉพาะการจัดแบ่งห้องในแอปพลิเคชั่นซูม ไม่ควรจับกลุ่มผู้พิการทางการเห็นมาอยู่กับผู้พิการทางการได้ยิน เพราะจะสื่อสารกันลำบาก
นอกจากนี้ ยังต้องรู้จักจับจังหวะการสื่อสาร เช่น ผู้พิการทางร่างกาย อาจจะสามารถรับรู้ได้เหมือนคนปกติ แต่ถ้าเป็นกลุ่มผู้พิการทางหู อาจจะต้องอาศัยล่าม ทำให้การปฏิสัมพันธ์อาจจะต้องช้าลง มีจังหวะที่ต้องรอ เป็นต้น
