ทักษะการเรียนรู้ตลอดชีวิต พัฒนาตัวคุณในทุกๆ วัน
26 ม.ค. 2022
เป็นมนุษย์อย่าหยุดเรียนรู้…LIFELONG LEARNING
“เชื่อว่าหลายคนไม่เคยแบ่งเวลาสำหรับการเรียนรู้ และไม่ชอบอ่านหนังสือ แต่รู้หรือไม่ว่าคนเก่งหรือผู้นำระดับโลกหลายๆ คนอ่านหนังสือเกือบทุกวัน ไม่ว่าจะเป็นอดีตประธานาธิบดี Barack Obama ที่แบ่งเวลาเพื่ออ่านหนังสือวันละ 1 ชั่วโมงขณะอยู่ที่ทำงาน หรือ Bill Gates ที่จะอ่านหนังสือทุกสัปดาห์ และ Warren Buffett ซึ่งใช้ 80% ของเวลาในการอ่านและการคิดตลอดชีวิตการทำงาน เหมือนกับที่เคยได้ยินว่าคนเก่งส่วนใหญ่ชอบอ่านหนังสือ ทำไมคนเก่งจึงเป็นเช่นนั้น จริงๆ แล้วพวกเขาอาจจะไม่ได้ชอบแค่อ่านหนังสือ แต่พวกเขาเชื่อในเรื่องการเรียนรู้ คำตอบที่ง่ายกว่านั้นคือเขามองว่าการเรียนรู้เป็นการลงทุนที่ดีที่สุด หรือเหมือนที่ Benjamin Franklin เคยกล่าวว่า “การลงทุนในความรู้เป็นเรื่องที่น่าสนใจที่สุด”
หากพูดถึงหนึ่งใน Self-Made CEO ของโลก คงไม่มีใครไม่รู้จัก Satya Nadella แห่ง Microsoft หลังจากที่ขึ้นมาบริหารงานต่อจาก CEO คนก่อนในปี 2014 เขาได้พา Microsoft กลับมาอยู่ในทิศทางที่ถูกต้องอีกครั้ง โดยผลงานเด่นๆ ของเขาคือ ยกเครื่องระบบปฏิบัติการ Windows ไปสู่ Windows 10 จับมือเป็นพันธมิตรกับแบรนด์ในท้องตลาดยักษ์ใหญ่อย่าง Apple หรือ Google
แต่ไม่ใช่แค่เรื่องการทำงานของเขาที่น่าสนใจ สิ่งหนึ่งที่ทำให้ CEO ผู้นี้ประสบความสำเร็จมาจากวิธีคิดและวิธีการทำงานของเขา และเรื่องหนึ่งที่น่ายกย่องมากคือเรื่องความเชื่อของเขาในการเรียนรู้ตลอดชีวิต
Satya กล่าวว่า “ผมเป็นคนที่เรียนรู้ตลอด ผมจะได้รับพลังงานจากคนที่ประสบความสำเร็จ เวลาเห็นคนอื่นพัฒนาอะไรสักอย่าง ไม่ว่ามันจะเล็กขนาดไหน สิ่งเหล่านั้นมันทำให้ผมหยุดพัฒนาตัวเองไม่ได้ ผมมักจะซื้อหนังสือมากจนอ่านไม่หมด สมัครเรียนคอร์สออนไลน์มากเกินเวลาที่มี ผมว่าสิ่งเหล่านี้แหละเป็นพลังชั้นดีให้กับการทำงาน ไม่ใช่แค่ผม แต่สำหรับทุกคน เพราะสินค้าและบริการก็มาจากความรู้ที่คุณมีทั้งนั้น”
ความเชื่อในเรื่องการเรียนรู้ตลอดชีวิตของเขานี่เอง ที่ทำให้เขากลายเป็น Self-Made CEO ที่น่าชื่นชมในโลกแห่ง disruption นี้
ทักษะการเรียนรู้ตลอดชีวิตคืออะไร?
หากพูดกันตรงๆ คนยิ่งเก่งเท่าไหร่ ยืนอยู่ในจุดที่สูงขึ้นไปเท่าไหร่ ยิ่งทำให้มีโอกาสที่อัตตาจะเต็มเปี่ยม เมื่อไหร่ที่คุณคิดว่าตัวเองเจ๋งที่สุดแล้ว เมื่อนั้นคุณจะหยุดเรียนรู้ ในอีกมุมหนึ่ง การเรียนรู้แบบไม่สิ้นสุด จะทำให้คุณพัฒนาตัวเองไปเรื่อยๆ ในขณะที่การไม่เรียนรู้อะไรเพิ่มเติมเลย จะทำให้คุณกลายเป็นคนล้าสมัย และติดกับโลกเก่าๆ ของตัวเอง การเรียนรู้จึงเป็นการเปิดโลกกว้างของคุณด้วย
ในรายละเอียด นี่คือคุณลักษณะที่กีดขวางไม่ให้คนเราเกิดการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง
– น้ำเต็มแก้ว คือลักษณะของคนที่ไม่ยอมรับว่าตนเองไม่รู้ เชื่อว่าเคยเจอมาแล้ว รู้แล้วว่าต้องทำอย่างไร เชื่อว่าวิธีแก้ปัญหาแบบเดิมๆ ที่เคยทำมานั้นเป็นสูตรสำเร็จที่ใช้แก้ไขปัญหาได้ครอบจักรวาล ทั้งที่ความจริงแล้วกาลเวลา สิ่งแวดล้อม และบริบทเปลี่ยนไปแล้ว การไม่ยอมรับว่าตัวเองไม่รู้จึงเปรียบเสมือนน้ำเต็มแก้วที่ไม่ว่าจะพยายามเติมหรือนำเสนอความรู้ความคิดใหม่ๆ อย่างไรก็ไม่สามารทำได้
– กลัวเสียหน้า หลายๆ คนไม่สามารถทำใจยอมรับได้ว่าตัวเองไม่รู้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่มีชั่วโมงบินสูง ทั้งที่ความจริงแล้ว การอ้างว่ารู้มากรู้ดี แต่ความจริงไม่รู้หรือรู้ไม่จริงนั้นจะสามารถสั่นคลอนความเชื่อมั่นและความน่านับถือลงไปได้หลายแต้ม
– อิ่มตัว หมดไฟ ชนเพดาน ไม่เห็นความสำคัญของการค้นคว้าหาสิ่งใหม่ๆ มาใช้พัฒนางาน เชื่อว่าเดินมาถึงที่สุดแล้ว ไม่มีอะไรดีกว่านี้จึงหยุดเรียนรู้ หรือเพราะไอเดียใหม่ๆ ฟังยุ่งยากซับซ้อน จึงเลือกที่จะทำตามวิธีเดิมๆ ต่อไป
ด้วยทัศนคติแบบนี้นี่เองที่ไม่เอื้อต่อการพัฒนาตัวเอง และปิดกั้นความรู้ใหม่ๆ แต่ดิฉันอยากเชื้อเชิญทุกท่านไม่ให้หยุดเรียนรู้เพราะชีวิตไม่เคยหยุดสอนเรา สิ่งที่คุณต้องทำคืออย่าลืมเปิดตา เปิดใจให้กว้างเพื่อเรียนรู้จากสิ่งที่คุณเจอทุกวัน อย่าปล่อยให้วันเวลาล่วงเลยไปแบบเสียเปล่า ชีวิตสอนเราในทุกขณะ เพื่อให้เราเติบโตและแข็งแกร่งขึ้น ดังนั้นเมื่อเจออุปสรรค อย่ามัวแต่ท้อใจ เสียใจ แต่ให้ตั้งคำถามว่าเราได้อะไรจากบทเรียนครั้งนี้ และจงขอบคุณชีวิตที่ได้สอนบทเรียนเรา หลายคนไม่เคยมีโอกาสได้เรียนรู้อะไรเลย
หากเรากลับมามองดูจะพบว่าการศึกษาในความคิดของคนส่วนใหญ่มักจะจำกัดอยู่ตามสถานศึกษาอย่างโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัย ซึ่งเมื่อสำเร็จการศึกษาออกมาแล้วก็มักจะคิดว่าตนเองมีความรู้ ทักษะ และประสบการณ์ที่เพียงพอต่อการประกอบอาชีพและดำรงชีวิต ซึ่งในความเป็นจริงเราอยู่ในโลกที่ไม่เคยหยุดหมุนและเกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นในทุกวัน ดังนั้นเราจึงไม่สามารถหยุดการเรียนรู้ไว้ที่จุดใดจุดหนึ่ง แต่ต้องหมั่นศึกษาหาความรู้เพื่อให้หมุนทันตามโลกเช่นกัน ซึ่งสุดท้ายแล้วจึงกลายเป็นที่มาของแนวคิด “การเรียนรู้ตลอดชีวิต”
นอกจากนั้น เราจะพบว่าภายใต้ภาวะที่สภาพการจ้างงานเปลี่ยนแปลงไป หลายภาคธุรกิจต้องการบุคลากรที่มีความรู้มีทักษะแบบใหม่เข้าทำงาน แต่กลับประสบปัญหาในการหาแรงงานที่มีทักษะที่ตรงกับความต้องการ หรือตอบสนองต่อการเติบโตของธุรกิจในโลกอนาคต โดยปัญหาดังกล่าว ส่วนหนึ่งนั้นมาจากแรงงานไม่สามารถจะใช้โอกาสที่เกิดขึ้นจาก technological disruption ได้อย่างเต็มที่ เพราะขาดความเข้าใจว่าการเรียนรู้ที่แท้จริงคืออะไร เราจะได้รับประโยชน์อะไรจากการเรียนรู้ที่แท้จริงบ้าง จึงทำให้ขาดทักษะใหม่ๆ ที่มีความจำเป็น เพื่อความสำเร็จในการทำงานและการใช้ชีวิตในสังคมโลกยุคใหม่ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วของโลก ด้วยพลังของเทคโนโลยีและกระแสโลกาภิวัตน์
เราจึงอาจกล่าวได้ว่าการเรียนรู้ตลอดชีวิต หรือ Lifelong Learning เป็นอีกทางเลือกที่จะช่วยให้ทั้งแรงงานและธุรกิจรักษาขีดความสามารถไว้ได้ในโลกยุคใหม่ และ Lifelong Learning ยังเป็นรากฐานของสังคม ธุรกิจ และเศรษฐกิจที่กำลังเปลี่ยนโฉมให้เข้มแข็ง
แนวความคิดของการเรียนรู้หรือการศึกษาตลอดชีวิตนั้นได้รับการส่งเสริมโดยองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา Organization for Economic Co-operation and Development (OECD) ร่วมกับยูเนสโก (UNESCO) และสภายุโรป (Council of Europe) พยายามผลักดันให้มนุษย์ในทุกชนชั้น ทุกเชื้อชาติ ทุกอารยธรรม เริ่มตั้งเป้าหมายที่จะเรียนรู้ตลอดเวลาในขณะที่ยังมีลมหายใจ
อนึ่ง ในบทความล่าสุดของ World Economic Forum ยังได้กล่าวไว้อย่างน่าสนใจว่า “ความรู้เปรียบเสมือนเงินรูปแบบใหม่” ดังนั้นการที่เราเล็งเห็นว่าการเรียนรู้ตลอดชีวิตมีความสำคัญ เราก็สร้างกำไรให้กับชีวิตตลอดเวลา
โดยปกติ เมื่อเราพูดว่าไม่มีเวลาสำหรับการเรียนรู้ ส่วนใหญ่เป็นเพราะเราทุ่มเทเวลาเพื่อหาเงิน แต่ในโลกปัจจุบันและโลกอนาคต ตรรกะเรื่องเงินเป็นของมีค่ากำลังจะเปลี่ยนไป
โดยปกติ เมื่อเราพูดว่าไม่มีเวลาสำหรับการเรียนรู้ ส่วนใหญ่เป็นเพราะเราทุ่มเทเวลาเพื่อหาเงิน แต่ในโลกปัจจุบันและโลกอนาคต ตรรกะเรื่องเงินเป็นของมีค่ากำลังจะเปลี่ยนไป ในรายละเอียด พวกเรากำลังอยู่ในช่วงเริ่มต้นของกระแสที่เรียกว่า rapid demonetization หรือการที่เทคโนโลยีทำให้ผลิตภัณฑ์หรือบริการที่แพงก่อนหน้านี้ถูกลงมากหรือฟรี ตามที่ Peter Diamandis ซึ่งเป็น Futurist ท่านหนึ่งที่มีชื่อเสียง ได้ทำนายไว้ โดยขณะที่สินค้าและบริการต่างๆ ถูกเทคโนโลยีทำให้ถูกลง ความรู้ของคนเรากลับมีคุณค่ามากขึ้น
เช่นเดียวกับเงิน ความรู้เปรียบเสมือนสกุลเงินหนึ่ง ซึ่งเป็นสื่อกลางของการแลกเปลี่ยน แต่มันไม่เหมือนเงินตรงที่เมื่อเราใช้ความรู้หรือให้ความรู้กับใครไป เราไม่ได้สูญเสียความรู้นั้นไป นอกจากนั้นการเคลื่อนย้ายความรู้ไปยังที่ไหนบนโลกนั้นไม่มีค่าใช้จ่ายและสามารถเกิดขึ้นได้ทันที โดยคุณค่าของความรู้จะเพิ่มขึ้นตามเวลา และเพิ่มเร็วกว่าเงิน ความรู้สามารถเปลี่ยนเป็นหลายสิ่งได้ รวมถึงสิ่งซึ่งเงินไม่สามารถซื้อได้ เช่น ความสัมพันธ์แท้จริง
ทั้งนี้ เชื่อหรือไม่ว่านอกจากการเพิ่มทักษะการเรียนรู้ตลอดชีวิต การเรียนรู้ยังมีข้อดีอีกหลายประการ ได้แก่
- คุณจะมีความสุขมากขึ้น จริงอยู่ที่การเรียนรู้เรื่องใหม่ๆ เป็นสิ่งที่ยาก และท้าทายจนบางครั้งอาจถึงกับเป็นอุปสรรคขัดขวางให้เราถอดใจระหว่างทาง แต่จากการวิจัยพบว่ายิ่งเราตั้งเป้าหมายการเรียนรู้ไว้ท้าทายมากขนาดไหน เมื่อเราเอาชนะและสามารถเรียนรู้ ทำความเข้าใจจนลงมือปฏิบัติได้จริงจะยิ่งทำให้เรามีความสุขมากขึ้นเท่านั้น
- คุณจะเพิ่มคุณค่าให้กับตนเองกลายเป็นส่วนสำคัญที่ขาดไม่ได้ขององค์กรหรือคนรอบข้าง เพราะคนที่พร้อมจะลองทำ ลองเรียนรู้เรื่องใหม่ๆ ตลอดเวลา จะไม่จำกัดตนเองอยู่ในกรอบเท่านั้น แต่จะเสนอตัวเข้าไปเป็นส่วนร่วมในโครงการต่างๆ เพื่อหวังจะได้เก็บเกี่ยวประสบการณ์ สิ่งนี้เองจะเป็นการเพิ่มคุณค่าให้กับตนเอง เพราะคุณพร้อมที่จะทำมากกว่าสิ่งที่หน้าที่กำหนด นำมาซึ่งความรู้ใหม่ๆ ที่เป็นประโยชน์ทั้งต่อตัวเองและคนรอบข้าง
- คุณจะกลายเป็นที่รักของคนรอบข้าง เมื่อคุณไม่พยายามจะเอาตัวเองเป็นศูนย์กลาง ไม่พยายามโอ้อวดอยู่ตลอดเวลาว่าตนเองรู้มากที่สุด แต่ในทางตรงข้ามคุณมองหาโอกาสในการเรียนรู้เรื่องต่างๆ ทุกครั้งที่ทำได้ คุณแสดงออกว่าอยากเรียนรู้จากคนรอบข้างอยู่เสมอ สิ่งเหล่านี้เองจะทำให้คนรอบข้างมองคุณในทางที่เป็นมิตร
Read more about
Mindset & Personal Growth