Agile-0rganization

การทำงานแบบ Agile คืออะไร มีบทบาทในการพลิกองค์กรอย่างไร

26 ม.ค. 2022

Agile Organization คุณพร้อมติดสปีดสำหรับการเปลี่ยนแปลงองค์กรหรือยัง “โลกที่เราอยู่กันทุกวันนี้ยังเป็นโลกใบเก่าที่เราคุ้นเคยกันหรือเปล่า? เพราะทุกอย่างเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา และมีแต่จะทวีความรุนแรงมากขึ้นในทุกขณะ อะไรๆ ที่เคยทำแล้วได้ผลในอดีตกลับไม่ได้ให้ผลลัพธ์อย่างที่เราต้องการอีกแล้ว คนหรือธุรกิจที่จะอยู่รอดได้วันนี้ไม่ได้แข่งกันที่เรื่องความสามารถเท่านั้น แต่เป็นเรื่องความเร็ว (Speed) ดังนั้น Agile คือสิ่งสำคัญที่ทุกองค์กรต้องใส่ใจ” ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาคำว่า “นวัตกรรม” กลายเป็นคำพูดติดปากสำหรับทุกๆ อุตสาหกรรมและธุรกิจ ในโลกยุคปัจจุบันที่มีธุรกิจใหม่เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา ด้วยผลกระทบจาก Digital Disruption ที่ถาโถมเข้ามา แม้แต่องค์กรเก่าแก่ก็ไม่สามารถวางใจว่าตัวเองจะอยู่ยงคงกระพันได้โดยไม่ถูก disrupt ไปเสียก่อน จึงต้องมีการปรับตัว เพราะคู่แข่งของเราไม่ใช่คนกลุ่มเดิมๆ หรือคนในอุตสาหกรรมเดียวกันอีกต่อไปแล้ว แต่อาจเป็นธุรกิจขนาดเล็ก หรือธุรกิจใหม่ๆ ที่มีอายุแค่ไม่กี่ปี ในแง่ของการเปลี่ยนแปลงองค์กรจึงปฎิเสธไม่ได้ว่า คำที่ถูกพูดถึงเป็นอย่างมากในช่วงเวลานี้ อย่างคำว่า ‘Corporate Innovation’ ‘Business Transformation’ หรือที่เรียกกันว่า ‘Agile Organization’ คือคำที่เราไม่สามารถมองข้ามได้อีกต่อไป แล้ว Agile คืออะไรกันแน่? ความหมายตรงตัวของคำว่า Agile คือ คล่องแคล่ว ว่องไว กระฉับกระเฉง ดังนั้น การทำงานแบบ Agile หรือองค์กรที่เป็น Agile Organization คือการทำงานแบบที่ลดขั้นตอนที่ยุ่งยากและลดความไม่จำเป็นของงานเอกสารลง และหันมาให้ความสำคัญกับการทำงานและการสื่อสารกันภายในทีม กล้าทดลองทำสิ่งใหม่ๆ เพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์หรือผลลัพธ์ที่ดีที่สุดโดยไม่จำเป็นต้องทำทุกอย่างตามขั้นบันไดเหมือนวิธีการทำงานแบบเก่า นอกจากนี้ ยังรวมไปถึงการที่คนในองค์กรรู้จักเรียนรู้และปรับตัวอย่างรวดเร็ว ซึ่งจะเอื้อต่อการพัฒนาและต่อยอดนวัตกรรมเป็นอย่างมาก “โลกของธุรกิจในปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วมาก เพียงแค่ชั่วข้ามคืนธุรกิจชั้นนำอาจจะถูกคู่แข่งหน้าใหม่ก้าวขึ้นมาแทนที่ได้โดยที่ไม่ได้ทันตั้งตัว” ภาพที่เราเห็นก็คือ ทุกวันนี้ปัจจัยสำคัญที่ขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงองค์กรนั้นคือเรื่องนวัตกรรม เทคโนโลยีที่พัฒนากันแบบวันต่อวัน รวมถึงการเดินทางเข้าสู่โลกยุคโลกาภิวัฒน์ที่มีการส่งผ่านของข้อมูลในรูปแบบต่างๆ ได้อย่างอิสระ ไร้พรมแดนและเป็นไปด้วยความรวดเร็วชนิดที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ ก็เป็นอีกหนึ่งเชื้อเพลิงที่เพิ่มอัตราหรือพลวัตของการเปลี่ยนแปลง เพราะฉะนั้นจึงอาจกล่าวได้ว่า ภาพของการดำเนินธุรกิจในปัจจุบัน เรื่องนวัตกรรมได้กลายมาเป็นปัจจัยชี้ชะตาอนาคตขององค์กรว่าจะอยู่หรือจะไปเนื่องมาจากสภาพการแข่งขันที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น ความต้องการของลูกค้าในตลาดที่พัฒนาไปอย่างไม่หยุดยั้ง ประกอบกับการที่สินค้าและการบริการทุกอย่างมีวงจรชีวิตของมันและในวันหนึ่งมันก็จะหมดอายุลง ที่น่ากลัวไปกว่านั้นคือเมื่อโลกเปลี่ยนเร็วแบบนี้ ทักษะหรือความสามารถของเราก็มีวงจรชีวิตที่สั้นลงเช่นกัน และวิธีเดียวที่จะอยู่รอดได้คือการติดสปีด ปรับตัวให้เร็วนั่นเอง และนี่คือคำตอบว่าทำไม Agile คือสิ่งสำคัญที่ทุกคนและทุกองค์กรควรนำไปปรับใช้ หากมองกันในภาพรวม Scott D. Anthony (https://hbr.org/2016/02/what-do-you-really-mean-by-business-transformation) กล่าวว่ารูปแบบของการเปลี่ยนแปลงองค์กรในปัจจุบันเพื่อตอบรับกับกระแส Digital Disruption นี้อาจพอจำแนกได้เป็น 3 รูปแบบ ดังนี้ การเปลี่ยนแปลงด้านการทำงาน หรือการเปลี่ยนแปลงองค์กรโดยการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้แก้ปัญหาด้านการทำงานเพื่อให้ธุรกิจที่ทำอยู่ปัจจุบันสามารถดำเนินการได้สะดวก รวดเร็ว ให้ผลลัพธ์ที่ดีกว่า ในต้นทุนที่ถูกกว่า การปรับตัวสู่ Agile Organization คือการปรับตรงนั้น เปลี่ยนตรงนี้นิดๆ หน่อยๆ ซึ่งเชื่อว่าบริษัทส่วนใหญ่ที่พยายามจะก้าวเข้าสู่โลกดิจิทัลก็มักจะนำการเปลี่ยนแปลงด้านนี้มาใช้เป็นแบบแรก แต่ก็ต้องอย่าลืมว่า การที่องค์กรพยายามนำเรื่องดิจิทัลเข้ามาช่วยเพียงเรื่องการทำงาน แต่หากโครงสร้างหลักขององค์กรยังไม่ได้ถูกเปลี่ยนแปลงไป มันก็จะไม่เพียงพอที่จะยืนหยัดบนโลกปัจจุบัน การเปลี่ยนแปลงโมเดลธุรกิจ ในแง่ของ Agile คือการเปลี่ยนแปลงวิธีการที่ทำอยู่เดิมๆ ไปสู่วิธีการใหม่อย่างสิ้นเชิงเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงองค์กรแบบก้าวกระโดด เช่น Netflix ที่เปลี่ยนโมเดลธุรกิจจากการส่งแผ่น DVD ผ่านไปรษณีย์เมื่อ 5 ปีก่อน มาเป็นแพลตฟอร์ม Streaming VDO ออนไลน์ อีกทั้งยังเปลี่ยนจากการนำเสนอแต่เนื้อหาของคนอื่น มาสู่การลงทุนผลิตเนื้อหาของตนเอง โดยอาศัยการศึกษาข้อมูลอย่างละเอียดของฐานลูกค้าที่มีอยู่ การเปลี่ยนแปลงเชิงกลยุทธ์ ใน Agile Organization คือการพลิกโฉม พลิกบทบาท พลิกรูปแบบของธุรกิจไปสู่ธุรกิจใหม่ เช่น Google ที่จากเดิมทำธุรกิจเรื่อง Data เรื่อง Search Engine ก็กลับกลายมาเริ่มธุรกิจรถยนต์ไร้คนขับ เช่นนี้เป็นต้น นอกจากนั้นอาจเห็นตัวอย่างได้ชัดจาก Amazon ซึ่งเป็นองค์กรที่เปลี่ยนแปลงเชิงกลยุทธ์ได้อย่างล้ำลึกมากจนตอนนี้ใครที่ไม่ได้ติดตามอาจตามไม่ทันแล้วว่าตกลง Amazon ทำธุรกิจอะไรกันแน่ เพราะมีมากมายไปหมดตั้งแต่ขายของไปจนถึง Cloud Computing เมื่อการเปลี่ยนแปลงและการพัฒนาไปสู่ Agile คือสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เราจึงต้องมาค้นหาคำตอบว่าต้องทำอย่างไรจึงจะเดินไปข้างหน้าได้อย่างรวดเร็วพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นตลอดเวลานี้ได้อย่างมั่นคง และทำอย่างไรถึงจะปรับให้การเปลี่ยนแปลงนี้กลายมาเป็นโอกาสทางธุรกิจมากกว่าเป็นอุปสรรค จากผลวิจัยที่ SEAC เคยทำมาก่อนหน้านี้พบว่า ช่องว่างของขีดความสามารถที่ชัดเจนที่สุดของผู้นำไทยคือเรื่องความสามารถในการนำองค์กรท่ามกลางสถานการณ์ที่ไม่แน่นอนและคลุมเครือ คำถามคือ เกิดอะไรขึ้นกับผู้นำไทยในปัจจุบัน? ข้อสังเกตที่ชัดเจนจากหลายกลุ่มตัวอย่างที่มีความรู้สึกตรงกันก็คือ ผู้นำองค์กรในปัจจุบันยังขาดความพร้อมในการประเมินสถานการณ์และความเสี่ยง และการวิเคราะห์ถึงผลที่จะตามมา จึงไม่มีการเตรียมพร้อมรับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น หรือเตรียมตัวแล้วแต่ยังไม่ดีพอ ทำให้การเปลี่ยนแปลงองค์กรทำไม่ได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ ข้อนี้ก็ต้องย้อนกลับไปที่ Agile Organization ว่าคือตัวช่วยที่จะพาองค์กรข้ามผ่านความไม่แน่นอนไปได้อย่างไร แล้วอะไรทำให้คนไทยไม่แข็งแรงในการอยู่กับความคลุมเครือและความไม่แน่นอน อะไรทำให้เราปรับตัวได้ช้า? ความเห็นจากการวิจัยในครั้งนั้นพบว่า อุปสรรคของ Agile คือการที่เราอยู่อย่างคาดการณ์ได้มานาน อาทิ พื้นฐานวิถีความเป็นอยู่อย่างไทย อาหารการกินที่อุดมสมบูรณ์ หรือที่มักกล่าวกันว่า “ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว” รวมถึงภูมิอากาศที่อบอุ่นตลอดปี การใช้ชีวิตจึงคาดการณ์ได้ ไม่มีความจำเป็นในการวางแผนสำหรับสภาพอากาศแบบสุดขั้วทำให้เราขาดความตื่นตัวในการเตรียมพร้อมรับมือกับความเปลี่ยนแปลง นอกจากนี้ ความเป็นไทยแบบสบายๆ ไม่เคยผ่านวิกฤตการณ์แบบชี้เป็นชี้ตาย หรือสู้รบในสงครามอย่างรุนแรงทำให้เราไม่ได้เตรียมตัวกับภาวะคับขัน อีกมุมหนึ่งความเชื่อทางศาสนาและวิถีชีวิตก็มีส่วนเป็นอย่างมากที่ทำให้เราขาดความพร้อมรับมือกับความไม่แน่นอน เพราะด้วยความเชื่อที่ว่าเมื่อมีทุกข์ เดี๋ยวก็มีสุข ไม่มีอะไรจีรัง เรื่องเลวร้ายผ่านมาแล้วในที่สุดก็จะผ่านไป ทางออกในการพัฒนาศักยภาพผู้นำให้มีความพร้อมรับมือกับความเปลี่ยนแปลงในสถานการณ์ที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาเช่นนี้ คือ นอกจากจะต้องมีวิสัยทัศน์ที่เหนือกว่าในการบริหารงานบนความเสี่ยงและการเปลี่ยนแปลงแล้ว ยังจะต้องมีแนวคิดแบบ Agile นั่นก็คือการปฏิบัติงานและแก้ปัญหาด้วยความรวดเร็ว และลดทอนขั้นตอนที่ไม่จำเป็นแล้ว ผู้นำไทยยังต้องมีความแข็งแกร่งพอที่จะรีบลุกขึ้นยืนจากความล้มเหลว และนำพาองค์กรก้าวเดินต่อไปข้างหน้าอย่างมั่นคง และเป็นไปอย่างรวดเร็ว ถึงจะช่วยนำพาให้เกิดการเปลี่ยนแปลงองค์กรอย่างแท้จริง ความสำคัญของการก้าวสู่ Agile Organization คืออะไร? จากผลสำรวจของ Mckinsey ที่ได้ทำการสอบถามองค์กรต่างๆ จากหลายๆ กลุ่มธุรกิจ เมื่อปลายปีที่แล้ว (https://www.mckinsey.com/business-functions/organization/our-insights/how-to-create-an-agile-organization) มีสิ่งที่น่าสังเกตและเป็นสิ่งที่ได้รับการกล่าวอ้างจากหลากหลายองค์กร นั่นคือ สาเหตุที่ธุรกิจต้องปรับให้องค์กรคล่องตัวหรือ Agile Organization คือ rapid changes in competition หรือการมองว่าโลกในยุคปัจจุบันเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วมาก ทั้งในด้านความต้องการที่เพิ่มขึ้นอย่างไม่จำกัด และเทคโนโลยีที่หลากหลายและมีความก้าวหน้า ซึ่งแปลว่าองค์กรจะตอบสนองความต้องการแบบเดิมๆ ไม่ได้อีกแล้ว หรือแปลว่าการทำงานในรูปแบบเดิมนั้นจะไม่ตอบโจทย์โลกที่หมุนเร็วแบบนี้อีกต่อไป และยังอาจกล่าวได้ว่า สิ่งที่ผู้บริหารกำลังกังวลในตลาดการแข่งขันปัจจุบัน คือการที่องค์กรหรือธุรกิจไม่สามารถปรับเปลี่ยนตัวเองได้ทันตามตลาด หรือตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ดังที่เราอาจจะเห็นตัวอย่างองค์กรที่เคยประสบความสำเร็จมากมายที่ต้องล้มละลายหรือขาดทุนเพราะไม่สามารถปรับตัวเองได้ทัน เช่น Kodak และ Nokia เป็นต้น ดังนั้น หลักการทำงานแบบ Agile คือหลักสำคัญที่สามารถช่วยให้คนในองค์กรปรับตัวได้อย่างรวดเร็ว เพื่อให้เกิดการดำเนินธุรกิจต่อไปได้ นอกจากนั้น จากการสำรวจยังพบว่าองค์กรส่วนใหญ่เริ่มนำเรื่อง Agile ไปใช้ในงานสาขาต่างๆ ดังนี้
  1. Customer Innovation หรือการสร้างนวัตกรรมใหม่เพื่อตอบสนองความต้องการลูกค้า
  2. Customer Experience การสร้างประสบการณ์ให้กับลูกค้า
  3. Sales and Servicing งานขายและให้บริการลูกค้า สุดท้าย
  4. Product Management หรือคือการบริหารจัดการสินค้าและบริการ
ถ้าสังเกต จะพบว่าทั้ง 4 สาขาที่องค์กรเริ่มนำเรื่องของ Agile ไปใช้คือส่วนที่เกี่ยวข้องกับลูกค้าทั้งสิ้น โดยเราอาจประเมินได้ว่าเป็นเพราะปัจจุบันลูกค้ามีความต้องการที่ไม่จำกัด ลูกค้ามีความต้องการที่เปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ และแน่นอนว่าลูกค้าคือพระเจ้าหรือคนที่ทำให้บริษัทและองค์กรอยู่ได้ มาถึงตรงนี้ น่าจะพอเริ่มเห็นภาพแล้วเข้าใจกันแล้วว่าเรา Agile คืออะไรและทำไปทำไม แต่ยังมีอีกหนึ่งคำถามที่ตามมาสำหรับหลายๆ องค์กร นั่นคือ แล้วทำไมมันไม่ Agile ซักที “Agile ไปทำไม … ทำไมมันไม่ Agile” Agile Development คือความคล่องตัว ความยืดหยุ่น ซึ่งรวมไปถึงความรวดเร็วในการปรับเปลี่ยน ซึ่งตอนนี้กลายมาเป็นแนวความคิดที่ถูกนำมาประยุกต์ใช้กับวิธีการบริหาร ไม่ว่าจะเป็นการบริหารองค์กร การบริหารทีมงาน การบริหารโครงการ และการเปลี่ยนแปลงองค์กร ความคล่องตัวขององค์กรในที่นี้นั้นหมายถึงความสามารถในการรับมือและใช้ประโยชน์จากสถานการณ์ความไม่แน่นอนของตลาด เช่น การที่คุณสามารถจัดการความเสี่ยงได้ดีกว่าคู่แข่งนั้นจะทำให้คุณได้เปรียบพวกเขามาก ปัจจัยสำคัญต่อความคล่องตัวขององค์กรหรือ Agile คือความสามารถในการปรับตัวอย่างไม่หยุดยั้งในทุกๆ ระดับขององค์กร เมื่อ Agile Organization คือเรื่องจำเป็น ทุกองค์กรจึงต้องการสร้างเรื่องนี้ให้เกิดขึ้น ในทางปฏิบัติ คุณสมบัติที่จะช่วยให้ผู้นำสามารถพัฒนาจนมีศักยภาพในการดำเนินงานบนความเสี่ยงและความไม่แน่นอนได้อย่างมีประสิทธิภาพ และรวดเร็ว มีหลายประการ ตัวอย่างเช่น เป็นผู้รับฟังที่ดี ไม่อวดรู้ และน้อมรับฟังสิ่งใหม่ รู้จักตัดสินใจให้รวดเร็ว แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องรอบคอบและเหมาะสมด้วย ติดต่อและแลกเปลี่ยนข้อมูลกับคนหลากหลายความรู้และประสบการณ์ มองและก้าวออกไปนอกขอบเขตความคุ้นเคยเดิมๆ ใช้จินตนาการมองภาพสถานการณ์ภายใต้เงื่อนไขแบบต่างๆ เพื่อเตรียมตัวรับมือกับสิ่งที่อาจเกิดขึ้น สร้างตัวเลือกในการหาทางออกแทนที่จะยึดติดกับคำตอบเดียวในการแก้ปัญหา ไม่กลัวที่จะเสี่ยงในบางสถานการณ์ ฟังเสียงของสัญชาตญาน ตระหนักถึงความเร่งด่วนของปัญหา เรียนรู้จากข้อผิดพลาด และหาแนวทางอย่างรวดเร็ว แต่เหนือสิ่งอื่นใด สิ่งที่ทำให้ความเป็น Agile ไม่เกิดคือการที่องค์กรไร้ซึ่งการสร้างวัฒนธรรมและบรรยากาศการทำงาน จนทีมงานไม่สามารถตอบสนองกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในองค์กร และไม่สามารถสร้างโอกาสใหม่ๆ ทางธุรกิจได้อย่างรวดเร็วและเหมาะสม ดังนั้น อย่าลืมเปิดใจรับการเปลี่ยนแปลงและข้อผิดพลาดที่อาจเกิดจากการตอบสนองกับการเปลี่ยนแปลงเหล่านั้นเพื่อนำมันมาเป็นบทเรียนให้เรา Agile ได้ดีขึ้นกับสถานการณ์ต่างๆ ในอนาคต และก้าวไปสู่การเป็นองค์กรในฝันที่ก้าวทันทุกยุคทุกสมัยในที่สุด

Read more about

Agility & Change